วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

9 นิสัยคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพ

9 วิธีง่ายๆ ที่บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการหลายคน แนะนำเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมอาหาร และความเครียดเพื่อให้การลดน้ำหนักของคุณได้ผลอย่างแท้จริง และยั่งยืนมีอะไรบ้าง

1. ความเครียด หากคิดจะลดความอ้วนต้องข่มใจไว้อย่าให้เกิดภาวะเครียดขึ้น เพราะเมื่อเราเครียดทั้งจากเครียดทางร่างกาย เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมไปถึงเครียดจากสภาวะอารมณ์ของตัวเอง ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน (Hormone) ที่ชื่อว่า “Cortisol” เพื่อมารับมือกับความเครียด (บางตำราจึงตั้งชื่อให้ว่า ฮอร์โมนเครียด”) ซึ่งผลจากการผลิตฮอร์โมน Cortisol นี้ จะส่งผลให้ระบบในร่างกายเพิ่มการไหลเวียนของกลูโคส โปรตีน และไขมัน รวมถึงส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อกระตุ้นร่างกายให้หิว จึงเป็นเหตุผลที่ว่าผู้ต้องการลดความอ้วนไม่ควรที่จะเครียด

ด้านนายแพทย์ Jacob Seidel แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จากเมืองBilthon ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้คำแนะนำกับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก แต่มักมีภาวะเครียดว่า หากรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิดใจ ให้ฝึกสมาธิโดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยผ่อนออกสัก 5-10 นาที ก็จะช่วยบรรเทาสภาวะความเครียดได้ หรือแม้ไม่เครียดแต่อยากผ่อนคลายความเครียดให้กับตัวเอง ก็ฝึกสมาธิด้วยการหายใจอย่างนี้สักวันละ 5-10 นาที ก็จะทำให้สุขภาพกายสุขภาพจิตดีขึ้นได้

2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ การดื่มไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ (Alcohol) หลังอาหารมื้อเย็น เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จู่ๆ กางเกงยีนส์ตัวโปรดของคุณที่ใส่เป็นประจำ..คับไปซะอย่างนั้น เพราะแอลกอฮอล์ลจะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มระดับ ฮอร์โมนเครียด “Cortisol” มีสูงขึ้น จนส่งผลให้คุณหิวง่าย และเกิดภาวะอ้วนนั่นเอง หมอ Seidel แนะนำ

3. หยุดสูบบุหรี่ หมอ Seidel ระบุ..แม้จะไม่มีรายงานการวิจัยที่ชัดเจนว่า คนที่สูบบุหรี่จะอ้วนกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่บ่อยครั้งมีการพบว่า เมื่อผู้สูบบุหรี่หยุดหรือลดการสูบบุหรี่ลง ไขมันที่หน้าท้องของเขาจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการสูบบุหรี่ยังทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด และกระตุ้นการผลิตฮอร์โมน Cortisol ด้วย

4. กินอาหารที่มีเส้นใย การกินอาหารที่มีเส้นใยสูง (fiber)ไม่ใช่แค่ทำให้ ควบคุมหรือลดน้ำหนักได้เท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ ลดอาการท้องผูกได้ด้วย J. Cheskin ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมน้ำหนัก จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่า ร่างกายควรได้รับปริมาณเส้นใยอาหารจากธัญพืช ผลไม้และผัก ประมาณ 22-25 กรัมต่อวัน

5. ดื่มน้ำมากๆ การควบคุมน้ำหนักควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่าปล่อยให้กระหายหรือร่างกายขาดน้ำอย่างเด็ดขาด ดังนั้นความเชื่อที่ว่า การดื่มน้ำจะทำให้ตัวพองอ้วน จึงเป็นความเชื่อที่ผิด

6. รักษากระดูกให้แข็งแรง สำหรับเรื่องนี้ Willibald Nagler อดีตหัวหน้านักโชนาการจากโรงพยาบาล New York Hospital-Cornell Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า คนที่ลดความอ้วนอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดมาจากควบคุมอาหาร ที่ทำให้ในอนาคตอาจเกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกหัก และแตกได้ง่าย ดังนั้นจึงควรดูแลร่างกายให้ได้รับแคลเซียม (Calcium) ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ผัก นม หรือกินอาหารเสริมแคลเซียม เช่น แคลเซียมชนิดเม็ด

7. ทำหัวใจให้แข็งแรง การออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นให้หัวใจแข็งแรง โดยวิธีการบริหารกล้ามเนื้อหัวใจที่ดีที่สุด ก็คือ การออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิค (aerobic) 45-60 นาทีต่อสัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายหลายคนจึงแนะนำให้คนเคยอ้วน ที่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาด้านหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดปกติ ออกกำลังกายด้วยแอโรบิค

8. ฝึกการหายใจ ควรฝึกหายใจให้ถูกหลักการวิธีง่ายๆ คือ เมื่อหายใจเข้าท้อง พุงจะต้องป่อง และจะยุบเมื่อเราหายใจออก หากใครยังไม่ชิน มีเวลาว่างก็ควรฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนร่างกายชินและทำได้โดยอัตโนมัติ เพราะการหายใจที่ถูกวิธีถือเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่เลือด เลือดดีจึงสามารถเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดี และยิ่งกล้ามเนื้อดีเท่าไร ระบบเผาผลาญไขมันของเราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น การหายใจถูกวิธีจึงถือเป็นการช่วยลดความอ้วนได้อีกทางหนึ่ง

9. ให้รางวัลพิเศษกับตัวเอง การให้โบนัส (bonus) กับตัวเองที่สามารถลดความอ้วนได้ ไม่ใช่การกินทุกอย่างตามใจตัวเอง หลังอดอยากปากแห้งกับการลดน้ำหนักมานานหรอกนะ แต่ควรให้โบนัสโดยการควบคุมน้ำหนัก, สัดส่วน และความสมดุลของร่างกายไว้ให้คงที่ รวมถึงการหมั่นฝึกบุคลิกภาพของตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ เช่น นั่งตัวตรง ยืน หรือเดินหลังตรง สง่าผ่าเผย เพราะไม่ใช่แค่การมีรูปร่างผอมเพรียว แล้วจะดูดีไปเสียทุกอย่าง คนผอมหุ่นเฟอร์เฟค (perfect) แต่บุคลิกไม่ดี ก็คงไม่ไหว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น